วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ตำนานการก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก

prathat

 

ปรากฏหลักฐานในเรื่องเล่าของคนท้องถิ่นอยู่หลายแง่มุม ส่วนหนึ่งปรากฏในจารึกพระธาตุศรีสองรัก ตามที่ เอกรินทร์ พึ่งประชา (ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เสนอไว้ในบทความทางวิชาการเรื่อง การลดทอนความศักดิ์สิทธิ์โดยทุนนิยมและรัฐ ว่าหลักฐานส่วนหลังนี้เองที่คนด่านซ้ายผูกเรื่องให้ความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อกวนเข้าไปสัมพันธ์กับตำนานดังกล่าว กล่าวคือ ปี พ.ศ.๒๑๐๓ พระมหากษัตริย์ไทยแห่งกรุงศรีอยุธยาคือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ร่วมกันทำสัตยาธิษฐาน ปักปันเขตแดนกันระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระมหาอุปราช และเสนาอำมาตย์ ตลอดจนพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองอาณาจักรมาทำการแทนองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างพระธาตุตามคติความเชื่อของชาวพุทธไว้เป็นสักขีพยานแห่งการทำสัญญาพระราชไมตรี และเป็นเครื่องหมายเขตแดนระหว่างสองพระนคร ให้ชื่อว่า ?พระธาตุศรีสองรัก? สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๑๐๖ จึงจัดงานบูชาพระธาตุศรีสองรักในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ประการสำคัญ ยังมีเรื่องเล่าในหมู่ชาวบ้าน ว่า ระหว่างการก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก พระไชยเชษฐาธิราชได้แต่งตั้งให้ขุน แสน หมื่น และเจ้านาง รวมทั้งข้าราชบริวาร มาควบคุมดูแลการก่อสร้างเจดีย์ศรีสองรัก และปกครองเมืองนี้ให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กระทั่งขุน แสน หมื่น เจ้านาง และข้ารับใช้ได้สิ้นชีวิตลง เจ้าขุนไกร และเจ้านางน้อยโสดา ซึ่งเป็นเครือญาติกับขุนและหมื่นก็ได้ดูแลเมืองนี้สืบต่อมาเช่นเดิม แต่ปรากฎว่า เช้าวันหนึ่งระหว่างที่ขุนไกรนำขุน แสน หมื่น เจ้านางและบริวารทั้งหลายเตรียมสิ่งของกระทำพิธีกรรมเดือน ๔ ประจำปีเช่นเคยที่ปฏิบัติมา เมื่อเตรียมสิ่งของเป็นที่เรียบร้อย ขุนไกรพร้อมเสนาข้าทาสจึงประกอบพิธีคารวะวิญญาณบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ สักพักหนึ่ง ขุนไกรเริ่มมีท่าทางผิดปกติจากคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง และภาษาพูด ทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีถึงกลับตกใจ เสนาจึงรีบยกเครื่องสักการะถวาย ขุนไกรรับขันดอกไม้แล้วถามว่า ?รู้ไหมเราคือใคร มาจากไหน ?? ทุกคนตอบว่า ?ไม่รู้คะน้อย? (ไม่รู้ครับผม)? ต่อจากนั้น ขุนไกรที่เป็นเจ้าของร่างพูดว่า ?เราคือเจ้าเมืองวัง มาอาศัยร่างของขุนไกรเป็นร่างทรงเพื่อสื่อสารกับพวกเจ้า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราจะมาพบกับทุกๆ คน คือในเดือน ๔?หลังจากนั้น วิญญาณเจ้าในร่างทรงขุนไกรยังแต่งตั้งเจ้านางน้อยเป็นร่างทรงเจ้านายรวมทั้งพ่อแสน นางแต่ง และบริวาร โดยวิธีผูกแขน (ผูกข้อมือ) มาเป็นข้าทาสบริวาร คอยดูแลเมื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามวัน เดือน ปีที่กำหนด อีกทั้งยังอบรมสั่งสอนให้ทุกคนอยู่ในศีลในธรรม และพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของชาวบ้าน ขณะเดียวกันยังพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองว่า ปีนี้จะเป็นอย่างไร ควรกระทำอะไรก่อนหลัง เมื่อได้เวลา วิญญาณเจ้าเมืองวังจึงออกจากร่างทรงของขุนไกร นับจากนั้นมา จึงมีร่างทรงวิญญาณเจ้านายเป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างโลกของวิญญาณกับโลกมนุษย์ อีกทั้งยังถือว่า ขุนไกรเป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านายฝ่ายชายท่านแรก ส่วนเจ้านางน้อยเป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านายฝ่ายหญิงเป็นท่านแรก

จึงกล่าวได้ว่า ตามทัศนะของคนท้องถิ่น องค์พระธาตุศรีสองรักเป็นทั้งปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่รวมวิญญาณผีบรรพบุรุษชั้นเจ้านายตามความเชื่อท้องถิ่นให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยมี ?เจ้าพ่อกวน? เป็นผู้ดูแล ศาสนสถานและประกอบพิธีกรรมต่างๆ หาใช่ภิกษุสงฆ์เฉกเช่นวัดทั่วๆ ไปไม่ เรื่องเล่าผ่านตำนานดังกล่าวยังสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของนักวิชาการท่านต่างๆ กล่าวคือ มีการเปรียบเทียบตำแหน่งร่างทรงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือตัวแทนเจ้านาย และข้ารับใช้ คือเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม แสน และนางแต่ง กับระบบการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง หรือที่เรียกว่าการปกครอง ?ระบบอาญาสี่? หรือระบบศักดินาซึ่งใช้ที่ดินเป็นเกณฑ์ เช่น ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมือง คือ ?เจ้าเมือง? เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดใน

กิจการบ้านเมืองทั้งปวง ส่วนตำแหน่งผู้ช่วย คือท้าวสุริยะ ท้าวสุริยา ท้าวโพธิสาร และท้าวสุทธิสาร ทำหน้าที่ในการพิจารณาคดี พิพากษา และการปกครองแผนกต่างๆ ของเมือง ทั้งนี้ วิญญาณที่เข้าประทับเจ้าพ่อกวนประกอบด้วยเจ้าองค์หลวง คือวิญญาณของอดีตกษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง, เจ้าองค์ไทย คือ วิญญาณอดีตของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา, เจ้าเมืองวัง คือวิญญาณของเจ้าเมืองที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้าง พร้อมกับพ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และได้รับมอบหมายจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้ปกครองรักษาเมืองอยู่ที่ด่านซ้าย และท้ายสุด เจ้าแสนเมือง คือวิญญาณของอุปราช (อุปฮาด) ที่ได้รับมอบหมายเช่นเดียวกับเจ้าเมืองวังให้ช่วยบริหารบ้านเมืองคู่กับเจ้าเมืองวัง ส่วนวิญญาณที่เข้าประทับทรงเจ้าแม่นางเทียมมีดังนี้ เจ้าเมืองกลาง คือวิญญาณของเจ้านายที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้าง ที่ได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลเมืองด่านซ้าย และนางเค้า นางจวง นางจัน และนางน้อย คือวิญญาณเจ้านายที่เป็นชายาและนางสนมของเจ้าเมืองที่ติดตามมาจากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทร์

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่ง ขื่อบ้านขางเมือง? ได้แก่ ?เมืองแสน? มีหน้าที่กำกับฝ่ายทหาร ?เมืองจันทร์? มีหน้าที่กำกับพลเรือน เมืองขวา,เมืองซ้าย,? และ ?เมืองกลาง? มีหน้าที่ดูแลพัสดุต่างๆ เช่น ปฏิสังขรณ์วัดและกำกับการสักเลข ส่วนตำแหน่ง ?เพีย? คือองค์รักษ์เจ้าเมือง เป็นพนักงานติดตามเจ้าเมือง เป็นต้น ขณะที่ตำแหน่งประจำหมู่บ้าน มี ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ ?ท้าวฝ่ายตาแสง,? ?นายบ้าน,? และ ?จ่าเมือง? เป็นต้น

ดังนั้น เจ้าพ่อกวนเจ้าและ เจ้าแม่นางเทียม? ก็คือ บุคคลที่วิญญาณบรรพบุรุษหรือเจ้านายแต่งตั้งให้เป็นร่างทรง โดยผู้ที่วิญญาณจะแต่งตั้งต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับของชุมชน และสืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ปกครองเมืองแต่อดีต ทั้งนี้เพราะการเป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านายหรือเจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการสืบสันติวงศ์ โดยจะถูกเลือกและแต่งตั้งโดยวิญญาณพระเสื้อเมือง มาเข้าทรงบุคคลนั้นๆ ส่วนการแต่งตั้งเจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมคนก่อนถึงแก่กรรม หรือถูกให้ออกจากตำแหน่งเมื่อมีความประพฤติไม่เหมาะสม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่มักเป็นเครือญาติของเจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมคนก่อนเสมอ

จากเรื่องเล่า ตำนาน และความเชื่อดังกล่าว ทำให้คนด่านซ้ายเกิดความเชื่อ เคารพ และศรัทธาต่อองค์พระธาตุศรีสองรักว่า สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามประสงค์ อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เพราะเป็นที่สิงสถิตวิญญาณผีบรรพบุรุษผู้เป็นเจ้านาย โดยจะเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมที่มีความสัมพันธ์กับพระธาตุศรีสองรัก เช่น การแก้บะ (บน) และงานไหว้พระธาตุศรีสองรัก โดยมีเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม พร้อมทั้งพ่อแสนและนางแต่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธี และเป็นสื่อกลางในการติดต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแลองค์พระธาตุศรีสองรักด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น